วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562

หลักสูตรแกน

         หลักสูตรแกน (The Core Curriculum) ถือกำเนิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1900 ด้วยเหตุผลสองประการ คือ ความพยายามที่จะปลีกตัวออกจากการเรียนที่ต้องแบ่งแยกวิชาออกเป็นรายวิชาย่อยๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือความพยายามที่จะให้หลุดพ้นจากการเป็นหลักสูตรรายวิชา ประการหนึ่ง และความพยายามที่จะดึงเอาความต้องการและปัญหาของสังคมมาเป็นศูนย์กลางของหลักสูตร อีกประการหนึ่ง
          แรกทีเดียวได้มีการนำเอาเนื้อหาของวิชาต่างๆ มารวมกันเข้าเป็นวิชากว้างๆ เรียกว่าหมวดวิชา ทำให้เกิดหลักสูตรแบบกว้างขึ้น แต่หลักสูตรนี้มิได้มีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาและความต้องการของสังคมมากนัก ดังนั้นจึงมีผู้คิดหลักสูตรแกนเพื่อสนองจุดหมายที่ต้องการ
          1. วิวัฒนาการของหลักสูตร
          วิวัฒนาการของแนวความคิดเรื่องหลักสูตรแกน เริ่มจากการใช้วิชาเป็นแกนกลางโดยเชื่อมเนื้อหาของวิชาที่สามารถนำมาสัมพันธ์กันได้ เข้าด้วยกัน แล้วกำหนดหัวข้อขึ้นให้มีลักษณะเหมือนเป็นวิชาใหม่ เช่น นำเอาเนื้อหาของวิชาชีววิทยา สังคมศึกษาและสุขศึกษามาเชื่อมโยงกันภายใต้หัวข้อ “สุขภาพและอนามัยของท้องถิ่น” เป็นต้น ต่อมาภายหลังมีผู้คิดปรับปรุง การเชื่อมโยงอีก โดยยึดเอาวิชาใดวิชาหนึ่งเป็นแกน แล้วกำหนดหัวข้อการเรียนการสอนให้ครอบคลุมวิชาอื่นๆ อย่างกว้างขวาง เป็นต้นว่า เอาวิชาประวัติศาสตร์เป็นแกนแล้วขยายขอบเขตของเนื้อหาให้ครอบคลุมวิชาศิลปะ ดนตรี วรรณคดี วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามการใช้วิชาเป็นแกนทั้งสองรูปแบบนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่โดยเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์กับปัญหาสังคมปัจจุบัน
          เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงแนวความคิดเสียใหม่โดยถือเอาความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของหลักสูตร แต่ก็ปรากฏว่ายังมีข้อพกพร่องอยู่อีก เพราะความต้องการของผู้เรียนกับของสังคมอาจไม่ตรงกันก็ได้ นอกจากนั้นความต้องการนั้นอาจไม่ใช่ความต้องการของผู้เรียนโดยส่วนร่วม อาจเป็นความต้องการของผู้ที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางทำให้พวกที่มาจากชนชั้นสูงและชั้นต่ำถูกทอดทิ้งอย่างไม่เป็นธรรมก็ได้
          ในเวลาต่อมาได้มีการปรับปรุงแนวความคิดอีก 2 รูปแบบ แบบแรกคือเอาหน้าที่ของบุคคลในสังคมเป็นแกน เช่น การรักษาสุขภาพ การเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและสังคม การประกอบอาชีพ การปฏิบัติกิจทางศาสนา การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และการร่วมในกิจกรรมของท้องถิ่น เป็นต้น สำหรับแบบที่สองใช้ปัญหาสังคมเป็นแกน วิธีการที่เลือกว่าปัญหาใดสำคัญอาศัยหลักว่าปัญหานั้นจะต้องมีผลพลาดพิงต่อความเป็นอยู่ของบุคคลหรือสังคมส่วนรวมมีผู้ตำหนิว่าหลักสูตรแกนมุ่งศึกษาปัญหาสังคมและการศึกษาเรื่องของผู้ใหญ่มากเกินไปจนอาจลืมความสนใจของเด็ก     ข้อตำหนินี้มีผู้แก้ต่างว่าตามความเป็นจริงและไม่ได้ละเลยความสนใจของเด็กแต่อย่างใด เป็นแต่เพียง เบนความสนใจเข้าหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเท่านั้น นอกจากนี้เด็กเองยังมีโอกาสได้ร่วมในการวางแผนและลงแก้มือปัญหาด้วยตนเองอีกด้วย อนึ่ง การศึกษาปัญหาสังคมเป็นส่วนรวมจะช่วยให้เด็กหรือผู้เรียนมองเห็นสภาพและแนวโน้มของสังคมตนอาศัยอยู่ได้ดีขึ้น
          จากวิวัฒนาการของหลักสูตรในสหรัฐอเมริกาทำให้เราพอจะอนุมานได้ว่า หลักสูตรแกนคือหลักสูตรที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียน และเป็นหลักสูตรที่เน้นให้เรื่องปัญหาสังคมและค่านิยมของสังคม โดยมีกำหนดเค้าโครงของสิ่งที่จะสอนไว้อย่างชัดเจน
          2. หลักสูตรแกนในเอเชีย
          ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ใช้หลักสูตรแกนอยู่ในปัจจุบันนี้มีหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย  เวียดนาม ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ แต่การตีความหมายของหลักสูตรมีอยู่ 3 ความหมาย คือ
          1. หลักสูตรแกน หมายถึง หลักสูตรที่นำเอาวิชาต่างๆ มาผสมผสานกัน โดยใช้หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมปัจจุบัน ปัญหาของผู้เรียน หรือปัญหาทางประวัติศาสตร์มาผสมผสานกัน
          2. หลักสูตรแกน หมายถึง หลักสูตรที่ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ได้เลือกสรรแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นสำหรับผู้เรียนทุกคน โดยนำเอาสิ่งที่ได้เลือกไว้แล้วนี้ มาจัดในลักษณะหลักสูตรกว้าง ไม่แยกรายวิชา
          3. หลักสูตรแกน หมายถึง หลักสูตรประกอบด้วยวิชาต่างๆ ซึ่งได้รับการพิจารณาว่าสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียนทุกๆ คน
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
ก. ไม่ว่าจะตีความหมายอย่างใด  หลักสูตรแกนเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนเหมือนกันทั้งหมด
ข. ความแตกต่างของเนื้อหาของหลักสูตรขึ้นอยู่กับนโยบายและจุดมุ่งหมายของการศึกษาซึ่งผู้รับผิดชอบเป็นผู้กำหนด
ค. ทุกหลักสูตรต่างมีจุดเน้นที่วัฒนธรรม  ค่านิยมและปัญหาสังคม  แต่จะเน้นมากหรือน้อยกว่ากันเพียงใด  ย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายประเทศนั้นๆ
ง. ตามปกติหลักสูตรแกนจะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรแม่บท  และมีลักษณะเป็นหลักสูตรบูรณาการ
เพื่อช่วยให้มองเห็นภาพของหลักสูตรแกนของประเทศต่างๆ  ในเอเชียชัดเจนยิ่งขึ้นขอนำเอาสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องมาสรุปเปรียบเทียบให้เห็นดังต่อไปนี้
1. ความหมายของหลักสูตร ประเทศที่ดี
1. คือ จีน ญี่ปุ่น

2. คือ อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย เวียดนาม นิวซีแลนด์                                
3. คือ อินโดนีเซีย เนปาล ออสเตรเลีย

2. ผู้รับผิดชอบในการกำหนดหลักสูตร ประเทศที่รัฐบาลกลางมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหมดคือ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม สำหรับญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ รัฐบาลกลางเป็นผู้กำหนดแนวทางกลางให้ และโรงเรียนเป็นผู้จัดทำโปรแกรมการเรียนการสอนเอง มีอยู่สองประเภทที่รัฐบาลกลางไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ อินเดีย ซึ่งแต่ละรัฐจะดำเนินการเองโดยรัฐบาลกลางเพียงเสนอข้อคิดเห็น และออสเตรเลียซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของ แต่ละรัฐ ในบางรัฐยังถือว่าการกำหนดหลักสูตรเป็นเรื่องของโรงเรียน
3. ระดับการผสมผสานวิชาในหลักสูตร ที่มีการผสมผสานกันอย่างมากมายได้แก่ หลักสูตรของประเทศศรีลังกา ไทย เวียดนามและนิวซีแลนด์ ผสมผสานระดับปานกลาง ได้แก่ของจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ส่วนหลักสูตรของเนปาลนั้นมีการผสมผสานกันน้อยมาก
4. ระดับการเน้นหนักเรื่องชาตินิยมและความสามัคคีในชาติ ประเทศที่เน้นหนักมากคือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล ไทย เวียดนาม ที่เน้นปานกลางคือ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ส่วนที่เห็นว่าจำเป็นแต่ไม่ได้เน้น คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์
5. ระดับการเน้นหนักด้านศีลธรรมและจริยธรรม ประเทศที่เน้นหนักมากคือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ที่เน้นในระดับปานกลางคือ เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่เห็นว่าจำเป็นแต่ไม่ได้เน้นคือ คือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
6. สัดส่วนของหลักสูตรแกนในระดับประถมศึกษา ประเทศที่ถือว่าหลักสูตรประถมศึกษาทั้งหมดคือ หลักสูตรแกน คือ จีน มาเลเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ มีอินเดียและอินโดนีเซียเพียงสองประเทศที่หลักสูตรแกนไม่เป็นหลักสูตรประถมศึกษาทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากมีวิชาเลือกปะปนอยู่ด้วย
7. ความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ประเทศที่เน้นความสัมพันธ์อย่างมาก คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล ไทยและเวียดนาม ที่เน้นในระดับปานกลาง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์
8. วิชาที่จัดสอนให้ระดับประถมศึกษา ปรากฏว่าประเทศต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วได้กำหนดวิชาของหลักสูตรแกนไว้ใกล้เคียงกันมาก เป็นต้นว่าทุกประเทศมีการสอนภาษาประจำชาติและจัดให้มีการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนภาษากับทักษะในการเขียน และในการสื่อความหมายนอกจากนี้ยังถือว่าภาษาเป็นสิ่งที่สร้างเอกลักษณ์ของชาติ และสร้างความเป็นปึกแผ่นทางวัฒนธรรม
วิชาอื่นที่มีอยู่ในหลักสูตรในประเทศ ได้แก่ คณิตศาสตร์หรือเลขคณิต สังคมศึกษาและวิทยาศาสตร์ สองวิชาหลังบางทีสอนรวมกันเป็นวิชาการศึกษาสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยเรียกว่ากลุ่มประสบการณ์ชีวิต
วิชาที่จัดไว้ในหลักสูตรของทุกประเทศอีกวิชาหนึ่งคือ จริยศึกษา วิชานี้ถึงแม้ว่าในอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะไม่แยกเป็นวิชาต่างหาก แต่ก็มีสอดแทรกอยู่ในวิชาอื่น นอกจากนี้ก็มีวิชาพลศึกษาและศิลปะ ซึ่งมีอยู่ในหลักสูตรของประเทศ สำหรับวิชาการงานก็มีอยู่ในหลักสูตรของเกือบทุกประเทศเช่นเดียวกัน ประเทศที่เน้นเรื่องนี้มากคือ อินเดียและจีน
3. ข้อสรุปเกี่ยวกับหลักสูตรแกน
จากข้อมูลว่าด้วยหลักสูตรแกนในสหรัฐอเมริกาก็ดี และในประเทศต่างๆ ในเอเชียก็ดีทำให้เราพอมีข้อมูลสรุปได้ว่า หลักสูตรแกนเป็นหลักสูตรที่บังคับให้ทุกคนต้องเรียน  อาจเป็นหนึ่งของหลักสูตรแม่บท หรือเป็นตัวหลักสูตรแม่บทก็ได้จุดเน้นของหลักสูตรจะอยู่ที่วิชาหรือสังคมก็ได้ ส่วนใหญ่จะเน้นสังคมโดยยึดหน้าที่ของบุคคลในสังคม หรือปัญหาสังคม หรือการสร้างเสริมสังคมเป็นหลัก
ในแง่ของการเน้นวิชาก็ได้แก่การบังคับให้เรียนวิชาต่างๆ ในหลักสูตร เช่น วิชาสามัญ ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ส่วนในด้านสังคมก็อาจกำหนดหลักสูตรโดยใช้หัวข้อต่อไปนี้
1. ที่ยึดหน้าที่ของบุคคล ได้แก่ การสงวนรักษาทรัพยากร การผลิตสินค้าและบริการเฉลี่ยรายได้ การใช้สินค้าและบริการการพักผ่อนหย่อนใจ
2. ที่ยึดปัญหาสังคมได้แก่ ปัญหาที่อยู่อาศัย อาหาร การจราจร มลภาวะ สุขภาพ ศีลธรรมและการมีงานทำ
3. ที่ยึดการสร้างเสริมสังคม ได้แก่ ความรับผิดชอบตามหน้าที่พลเมือง การเป็นผู้บริโภคที่ฉลาด ความเข้าใจระบบเศรษฐกิจความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว การส่งเสริมอนามัยชุมชนและงานพัฒนาชุมชน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น