แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
เป็นแนวคิดภายใต้พื้นฐานของการ บริหารงานที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based
Management - SBM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งให้สถานศึกษามี
อิสระและมีความคล่องตัวในการบริหารงานด้านวิชาการ ด้านการเงิน ด้านการบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไป
เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยมีความเชื่อว่าการตัดสินใจที่
ดีที่สุดจากการตัดสินใจของคณะบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดและมีส่วนเกี่ยวข้องกับนัก
เรียนมากที่สุด (Wohlsletter, 1995:22-25)
แนวคิดนี้เริ่มในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแบบของบริหารจัดการแตกต่างกันไปตามมลรัฐ
และในระหว่าง พ.ศ. 2503-2522
วงการศึกษาของสหรัฐอเมริกาได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานทางการศึกษาเพื่อให้
มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยนำความคิดจากความสำเร็จของการพัฒนาองค์การทางอุตสาหกรรมที่ทำองค์การให้
มีประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีคุณภาพ
สร้างผลกำไรและสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้น
แนวทางที่จะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ต้องปรับปรุงและพัฒนาองค์การ การบริหารโรงเรียนเสียใหม่
มีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาไปยังโรงเรียนให้มากขึ้นมีการนำ
วิชาการบริหารงบประมาณด้วนตนเอง (Self-Budgeting School) การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา (School-Based Curriculum
Development) การพัฒนาบุคลากรโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based
Student Counseling) เข้ามาใช้
(สำนักคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ,2543:12)
เซ็น (Chen, H.L.S., 2000:3) กล่าวว่า
โดยพื้นฐานแล้วความคิดในการจัดทำหลักสูตรโรงเรียนก็คือ
โรงเรียนเป็นที่ที่ดีที่สุดในการออกแบบหลักสูตร
เพราะเป็นสถานที่ผู้เรียนและครูมีปฏิสัมพันธ์กัน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการกระทำ
และมีผลโดยตรงต่อโรงเรียนและมีส่วนร่วมในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการศึกษา
เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการใช้หลักสูตรแกนกลางเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม
เพราะไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของโรงเรียนนโยบายที่จะให้โรงเรียนพัฒนาหลักสูตร
เป็นการเปลี่ยนจากการสั่งการจากหน่วยงานกลางมายังหน่วยปฏิบัติ (Top-Down) มาเป็นการจัดทำจากหน่วยปฏิบัติขึ้นไป (Bottom-Up) ซึ่งเป็นความคิดเช่นเดียวกับการให้โรงเรียนบริหารการจัดการเอง (School-Based
Management) และเป็นความคิดที่นำมาจากประเทศทางตะวันตก ดังนั้น
การนำมาใช้จะต้องนำมาปรับให้เหมาะสมด้วยหวังว่าทุกโรงเรียนจะเป็นแกนในการปฏิรูปการศึกษา
ครูทุกคนเป็นนักออกแบบหลักสูตร (Curriculum Designer) และทุกห้องเรียนเป็นห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ๆ
สำหรับประเทศไทยเอง แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาคือ
ต้องการกระจายอำนาจให้กับโรงเรียนสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรได้เอง
เพราะเท่าที่ผ่านมามีปัญหาเกิดขึ้นจากการรวมอำนาจการบริหารการศึกษาไว้ที่ส่วนกลางคือที่กระทรวงศึกษาธิการ
ดังที่คณะกรรมการปฏิบัติระบบบริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการกล่าวไว้ว่า
ลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาดังนี้
1. ปัญหาการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้เกิดปัญหาคือ
1.1 ก่อให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติ อนุญาต
1.2 ขาดความเป็นอิสระในการคิด การตัดสินใจในระดับล่าง
และระดับปฏิบัติของหน่วยงานในพื้นที่และสถานศึกษา
1.3 การบริหารและการตัดสินใจของหน่วยงานระดับล่างไม่อาจทำได้
ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นและความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา
และตอบสนองตามความต้องการของนักเรียนและประชาชน หรือชุมชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
1.4 ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและทรัพยากร
เนื่องจากการจัดสรรที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการที่แท้จริง
การมอบอำนาจหรือแบ่งอำนาจ
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการบริหารงานตามระเบียบแบบแผนการบริหารการเงิน
และการบริหารงานบุคคล ส่วนการมอบอำนาจในเรื่องของนโยบายแผนงาน
และวิชาการมีเป็นส่วนน้อยคือเพียงร้อยละ 0.4ของลักษณะงานที่มอบอำนาจไปทั้งหมด
2. ปัญหาด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน
ก็มีการกำหนดและควบคุมจากส่วนการสูงมาก
แม้มีความพยายามให้สถานศึกษาและหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาหลักสูตรในท้องถิ่น
ก็ไม่เกิดผลเท่าที่ควรทั้งนี้เนื่องจาก
2.1 กรอบหลักสูตรและการประเมินผล
เป็นสาเหตุสำคัญในการสกัดกั้นการตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตร
2.2 ความวิตกกังวลของสถานศึกษาและครูผู้สอน
ที่เกรงว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ครบตามระเบียบและกฎเกณฑ์ดังกล่าว
2.3 รูปแบบการจัดการเรียนการสอนของครูที่ยังยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง
ไม่ส่งเสริมศักยภาพ และความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน
2.4 ระบบรวมศูนย์ในเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการเรียนการสอน
รวมทั้งการควบคุม
จัดสรรและกำหนดคุณลักษณะจากส่วนกลางก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานศึกษามิอาจ จัดรายวิชาที่สนองความต้องการของนักเรียนและความต้องการชุมชนได้
3. ปัญหาจากการใช้หลักสูตรเดียวกันทั่วประเทศ
ก่อให้เกิดผลต่อผู้ปฏิบัติตามหลักสูตร
3.1 ผู้บริหารโรงเรียนบางส่วนขาดความรู้ ความเข้าใจในหลักสูตร
3.2 ครูไม้เข้าใจหลักการ จุดมุ่งหมายของหลักสูตร
3.3 เนื้อหาวิชามีความยาก ไม่สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น
3.4 ครูไม่เข้าใจวิธีการจัดการเรียนการสอน
จึงจัดการเรียนการสอนที่ยึดครูเป็นศูนย์กลาง
3.5 การจัดส่งเอกสารประกอบหลักสูตรไปยังโรงเรียนมีความล่าช้า
ไม่ทันเปิดภาคการศึกษา จำนวนที่จัดส่งไปให้ไม่เพียงพอ
4.
ปัญหาในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นก็คือ
4.1 การขาดบุคลากร
4.2 ขาดความร่วมมือและสนับสนุน
4.3 ขาดวิทยากร
4.4 ขาดความรู้
4.5 ขาดการเก็บรวบรวมข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
4.6 ครูไม่ปรับหลักสูตรสอนตามหลักสูตรแกนกลาง
4.7 ไม่ปรับปรุงสื่อ เอกสาร
4.8 ครูไม่มีความรู้และขาดทักษะในการดำเนินการ
จากรายงานการวิจัยและพัฒนาระบบการประเมินผลภายในของสถานศึกษาพบว่าสถานศึกษา
ที่มีหลักสูตรและเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและผู้เรียน มีเพียงร้อยละ 27
เท่านั้น ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนคือ
1. นักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเองและชุมชนและตัวเองอาศัยอยู่น้อยหรืออาจไม่เกี่ยวข้อง
2. ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องไม่สนุก
เพราะประโยชน์ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันมีไม่มาก ไม่สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้
เช่น ทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญานิยม ที่เชื่อว่าการรู้เกิดจากการที่ผู้เรียนเป็นผู้ริเริ่มเป็นผู้กระทำที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้าผู้เรียนต้องเป็นผู้ลงมือกระทำ
การพัฒนาหลักสูตรระดับชาติ เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องดำเนินการ
เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาประสบความสำเร็จมีดังนี้ (Cohen, 1985:1158)
1.
ต้องมีการมอบอำนาจส่วนกลางไปยังระดับโรงเรียนในท้องถิ่นในลักษณะการกระจายอำนาจ
2. บุคลากรในโรงเรียนมีความยินดีในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรสถาน
ศึกษาและบุคคลเหล่านั้นมีทักษะในการวินิจฉัยความจำเป็นของนักเรียน
3.
บุคลากรมีความสามารถเพียงพอในการรับผิดชอบงานและตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตร
เงื่อนไขดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดให้มีการกระจายอำนาจการบริหารไปยังสถานศึกษา
ให้สถานศึกษามีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
ได้เองซึ่งแนวทางที่กำหนดไว้มีดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2543:3)
1. ยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใน (School-Based Decision
Making) เป็นแนวคิดที่มุ่งให้โรงเรียนมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเอง
โดยยึดประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ
2. การมีส่วนร่วมและการร่วมคิดร่วมทำ (Participation and
Collaboration) การศึกษาเป็นเรื่องของสาธารณชน
มิใช่การรับผิดชอบของใครแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป
3. การกระจายอำนาจ (Decentralization) เป็นการคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้กับผู้ใกล้ชิดเด็ก
ได้แก่ โรงเรียน ผู้บริหารการศึกษา ครูชุมชน
เป็นความเชื่อว่าผู้มีส่วนได้เสียต่อการศึกษาหรือผู้ที่อยู่ใกล้เด็กสามารถจัดการศึกษาได้ดีที่สุด
ตรงตามความต้องการของผู้เรียนและชุมชน อำนาจการตัดสินใจควรอยู่ในระดับปฏิบัติคือสถานศึกษา
4. ภารกิจที่ตรวจสอบได้ (Accountability) ต้องมีการกำหนดหน้าที่
ความรับผิดชอบและภารกิจของผู้บริหาร ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและชุมชนอย่างชัดเจน
และภารกิจเหล่านี้ต้องสามารถตรวจสอบความสำเร็จได้
เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น