ถ้าเรายอมรับว่าการนำหลักสูตรไปใช้เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้หลักสูตรบังเกิด
ผลต่อการใช้อย่างแท้จริงแล้ว
การนำหลักสูตรไปใช้ก็ควรจะเป็นวิธีการปฏิบัติการที่มีหลักเกณฑ์และมีกระบวนการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพพอที่จะมั่นใจได้ว่า
หลักสูตรที่สร้างขึ้นนั้นจะได้มีโอกาสนำไปปฏิบัติจริงๆ อย่างแน่นอน
นักการศึกษาต่างก็ให้ทัศนะซึ่งเป็นแนวคิดในการนำหลักสูตรไปใช้ดังนี้
โบแชมป์ (Beauchamp, 1975: 169) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน
ครูผู้นำหลักสูตรไปใช้มีหน้าที่แปลงหลักสูตรไปสู่การสอน
โดยใช้หลักสูตรเป็นหลักในการพัฒนากลวิธีการสอน
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ผลตามเป้าหมาย
1. ครูผู้สอนควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร
2.
ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จได้
ผู้นำที่สำคัญที่จะรับผิดชอบได้ดี คือครูใหญ่
ทานการ์ด (Tankard, 1974 : 46-88) ได้ให้ความเห็นว่า
ความสำเร็จของการนำหลักสูตรไปใช้อยู่ที่การวางแผนการทดลองใช้ ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ
คือ
1. รายละเอียดของโครงการ
2. ปรัชญาและจุดมุ่งหมาย
3. แผนการนำไปใช้และการดำเนินการ
ผู้เกี่ยวข้องในการนำหลักสูตรไปใช้ซึ่งมีศึกษานิเทศก์ ครูใหญ่
ผู้บริหารระดับต่างๆ เป็นส่วนใหญ่จะต้องร่วมมือกันดำเนินงานตั้งแต่การทำโครงการปรับปรุงหลักสูตร
กำหนดจุดมุ่งหมาย จัดทำเนื้อหาแผนการนำไปทดลองใช้ และการประเมินผล
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำไปทดลองใช้ จะต้องบันทึกไว้ทั้งหมด
เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตร
สำหรับ เวอร์ดุน (Verduin, 1977 : 88-90) เขาให้ทัศนะว่า
การนำหลักสูตรไปใช้จะต้องเริ่มดำเนินการโดยการนิเทศให้ครูในโรงเรียนเข้าใจหลักสูตร
แล้วตั้งกลุ่มปฏิบัติการขึ้นเพื่อการศึกษาปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการใช้หลักสูตรจากพื้นที่ที่เป็นปัญหาหลายๆ
แห่งเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด
กลุ่มปฏิบัติการนี้จะต้องเข้าไปทำงานร่วมกันกับครูผู้สอนอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
การจัดการอบรมปฏิบัติการแก่ครูประจำการถือว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในการนำหลักสูตรไปใช้
ต้องใช้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญการสอนโดยเฉพาะสามารถฝึกผู้อื่นได้ดีและมีวิธีการให้ครูเกิดความสนใจ
ถ้ามีข้อเสนอแนะให้มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการใช้หลักสูตรควรเลือกครูผู้สอนที่อาสาสมัครและเต็มใจ
ไม่ควรใช้ครูทุกคนในโรงเรียนเพราะอาจมีบางคนที่ไม่เห็นด้วยและไม่เต็มใจกับการเปลี่ยนแปลง
จึงควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ครูส่วนใหญ่เข้าใจ
จะทำให้การเปลี่ยนแปลงมีความหมายและได้รับการยอมรับโดยปริยาย
จากเอกสารการประชุมของประเทศต่างๆ ในเอเชีย (APEID,
1977 : 29)
ในการประชุมทบทวนประสบการณ์ต่างๆ ของประเทศในเอเชีย เรื่อง
ยุทธศาสตร์การนำหลักสูตรไปใช้ได้สรุปเป็นองค์ประกอบที่สำคัญได้ดังนี้
1.
วางแผนและเตรียมการนำหลักสูตรไปใช้โดยให้คนหลายกลุ่มเข้าร่วมแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนและจัดเตรียมทรัพยากร
(มนุษย์และวัสดุ) ให้พร้อม
2.
จัดให้มีหน่วยงานส่งเสริมการนำหลักสูตรไปใช้ให้เป็นไปได้สะดวกและรวดเร็ว
3. กำหนดวิถีทางและกระบวนการนำหลักสูตรไปใช้อย่างเป็นขั้นตอน
รวมเหตุผลต่างๆ ที่จะใช้ในการจูงใจครูและติดตามผลการปฏิบัติงาน
ธำรง บัวศรี (2514: 165-195)
ได้สรุปชี้ให้เห็นปัจจัยจะนำไปสู่ความสำเร็จของการนำหลักสูตรไปใช้ไว้ว่าควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. โครงการสอน เช่น การวางโครงการสอนแบบหน่วย (Unit
Organization of Instruction, Teaching Unit)
ประเภทของหน่วยการสอนมี 2 ประเภท คือ หน่วยรายวิชา
(Subject Matter Unit) และหน่วยงานประสบการณ์ (Experience
Unit)
2. หน่วยวิทยาการ (Resource Unit)
เป็นแหล่งให้ความรู้แก่ครู เช่น เอกสาร คู่มือ และแนวการปฏิบัติต่างๆ
3. องค์ประกอบอื่นๆ ที่ช่วยในการสอน เช่น
สถานที่และเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์การเรียนการสอน วิธีการสอนและวัดผลการศึกษา
กิจกรรมร่วมหลักสูตร การแนะนำการจัดและบริหารโรงเรียนเป็นต้น
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2521: 140 -141) ได้ให้ความเห็นว่า
ผู้มีบทบาทในการนำหลักสูตรไปใช้ให้บรรลุจุดหมายมี 3 กลุ่ม คือ ครูใหญ่ ครูประจำชั้น และชุมชน
ในจำนวนนี้ครูใหญ่เป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดที่จะต้องศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรโดยมีขั้นตอนสรุปสั้นๆ
ได้ดังนี้
1. เตรียมวางแผน
2. เตรียมจัดอบรม
3. การจัดครูเข้าสอน
4. การจัดตารางสอน
5. การจัดวัสดุประกอบหลักสูตร
6. การประชาสัมพันธ์
7. การจัดสภาพแวดล้อมและการเลือกกิจกรรมเสริมหลักสูตร
8. การจัดโครงการประเมิน
จากเอกสารทางวิชาการของแผนกวิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2516: 11)
กล่าวถึงบทบาทของโรงเรียนในการนำหลักสูตรไปใช้ให้ได้ผลที่ควรจัดกิจกรรมดังนี้
1. ประชุมครูเพื่อศึกษาหลักสูตรและทำโครงการสอน
2. จัดอบรมครู
เพื่อให้เพิ่มพูนความรู้จากวิทยากรในด้วยวิธีการสอนแบบใหม่ๆ
3. เตรียมเอกสารทุกชนิดไว้ให้ค้นคว้าและอ่านประกอบ
จากคู่มือการนำหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 ไปใช้ (กรมวิชาการ 2520: 279)
ได้กล่าวไว้ในเรื่องการเตรียมการในการใช้หลักสูตรว่ามีขั้นตอนสรุปได้ดังนี้
1. เผยแพร่และประชาสัมพันธ์
2. จัดตั้งกลุ่มปฏิบัติการหลักสูตรขึ้นในส่วนภูมิภาคทุกเขตการศึกษา
3. ประสานงานกับกรมการฝึกหัดครู
4. ฝึกอบรมครู
5. จัดสรรงบประมาณ
6. จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดปัญหาและอุปสรรคการใช้หลักสูตร
จากแนวคิดของการนำหลักสูตรไปใช้ที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า
การนำหลักสูตรไปใช้นั้นเป็นงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย
นับแต่ผู้บริหารระดับกระทรวง กรมกอง ผู้บริหารระดับโรงเรียน ครูผู้สอน
ศึกษานิเทศก์ และบุคคลอื่นๆ ขอบเขตและงานของการนำหลักสูตรไปใช้เป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง
เพราะฉะนั้นการนำหลักสูตรไปใช้จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น