วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562

ขอบเขตในการประเมินหลักสูตร

              การประเมินผลหลักสูตรเป็นงานที่มีความซับซ้อนมีความกว้างขวางและมีความละเอียดอ่อนมากการประเมินผลหลักสูตรต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างที่จะต้องนำเข้ามาเกี่ยวข้องในลักษณะที่มีความสัมพันธ์ต่อกันการประเมินผลหลักสูตรมิได้หมายความว่าจะประเมินเฉพาะตัวหลักสูตรที่เป็นเอกสารจัดทำเป็นรูปเล่มเท่านั้นแต่ต้องประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรทั้งหมดเช่นนักเรียนครูกระบวนการระบบต่างๆ โครงการต่างๆ ฯลฯ ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการประเมินผลสภาพการณ์ดังกล่าวจะเป็นตัวชี้ได้ว่าหลักสูตรที่ใช้อยู่เป็นอย่างไร
              จากแนวคิดดังกล่าวนักการศึกษาได้พยายามจัดรวบรวมสภาพการณ์ขั้นตอนต่างๆ จัดเป็นหมวดหมู่หรือกำหนดขอบข่ายให้ชัดเจนขึ้นเพื่อสะดวกในการที่จะดำเนินการประเมินผลนักการศึกษาได้เสนอขอบข่ายของการประเมินผลไว้ดังนี้
              โบแชมป์  (Beauchamp. 1975: 177) ได้กำหนดขอบข่ายการประเมินหลักสูตรไว้ว่าควรประเมิน 4 ด้านคือ
              1 .ประเมินผลการใช้หลักสูตร (Evaluation of Teacher use of the Curriculum)
              2. ประเมินผลรูปแบบของหลักสูตร (Evaluation of the Design)
              3. ประเมินผลการเรียนของนักเรียน (Evaluation of Pupil Outcomes)
              4. ประเมินผลระดับหลักสูตร (Evaluation of Curriculum System)
              เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander, 1981: 265) ได้กล่าวถึงขอบเขตของการประเมินหลักสูตรไว้ดังนี้
              1. การประเมินจุดมุ่งหมายของโรงเรียนจุดมุ่งหมายของหลักสูตรจุดมุ่งหมายเฉพาะวิชาและจุดมุ่งหมายในการสอนเพื่อจะดูว่าจุดมุ่งหมายเหล่านั้นเหมาะสมกับตัวผู้เรียนสภาพแวดล้อมหรือไม่         มีความเที่ยงตรงและครอบคลุมเพียงใด
              2. การประเมินผลโครงการการศึกษาของโรงเรียนทั้งหมดเช่นการเตรียมพร้อมของโรงเรียนการดำเนินงานของกลุ่มโรงเรียนงบประมาณการเงินการแนะแนวห้องสมุดดูว่าการดำเนินงานโครงการต่างๆ ได้ดำเนินการไปอย่างไรและมีประสิทธิภาพเพียงใด
              3. การประเมินผลการเลือกเนื้อหาและการจัดประสบการณ์เรียนและกิจกรรมต่างๆ ว่าเหมาะสมเพียงใด
              4. การประเมินผลการสอบเพื่อดูว่าการสอนของครูดำเนินไปโดยยึดตัวหลักสูตรหรือไม่การสอนได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนไปตามที่ต้องการหรือไม่เพราะผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนคือผลสัมฤทธิ์ในการสอนของครู
              5. การประเมินผลโครงการประเมินผลเพื่อป้องกันการผิดพลาดซึ่งจะทำให้การประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรผิดพลาดไปด้วย
              สุมิตร คุณานุกร (2520: 198  202) ได้แสดงความคิดเห็นว่าการประเมินผลเพื่อตัดสินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรนั้นควรมีขอบเขตอยู่ 4 ประการคือ
              1. การวิเคราะห์ตัวหลักสูตร
              2. การวิเคราะห์กระบวนการนำหลักสูตรไปใช้
              3. การวิเคราะห์สัมฤทธิ์ผลการเรียนของเด็ก
              4. การวิเคราะห์โครงการประเมินผล
              ใจทิพย์  เชื้อรัตนพงษ์ (2539 : 195  197) กล่าวว่าในการประเมินหลักสูตรนั้นสิ่งที่ต้องประเมินสามารถแบ่งได้ดังนี้
              1. การประเมินเอกสารหลักสูตรเป็นการตรวจสอบคุณภาพขององค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตร
              2. การประเมินการใช้หลักสูตรเป็นการตรวจสอบว่าหลักสูตรสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์จริงเพียงใด
              3. การประเมินสัมฤทธิ์ผลของหลักสูตรเป็นการตรวจสอบสัมฤทธิ์ผลของผู้เรียน
              4. การประเมินระบบหลักสูตร
              สันต์  ธรรมบำรุง (2527: 141-142) ได้กำหนดขอบเขตการประเมินผลหลักสูตรไว้ดังนี้
              1. ประเมินหลักสูตรความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์
              2. ประเมินโครงการทั้งหมดของโรงเรียน
              3. ประเมินโครงการเฉพาะส่วน
              4. ประเมินการเรียนการสอน
              5. ประเมินโครงการ การประเมินผล
              6. ประเมินโครงการความสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนถึงการสอนด้วย
              7. ประเมินโครงการของผู้เรียนจบออกไปว่าหางานทำได้หรือไม่
              จากขอบเขตการประเมินผลหลักสูตรที่ยกมาเป็นตัวอย่างจะเห็นได้ว่า การประเมินหลักสูตรนั้นสามารถทำการประเมินได้ในขอบเขตที่แตกต่างกันอาจจะเป็นการประเมินในขอบเขตที่แคบ เช่น การประเมินจุดมุ่งหมายของหลักสูตร หรือการประเมินในขอบเขตที่กว้าง เช่น การประเมินหลักสูตรทั้งระบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการประเมินหรือสิ่งที่เราต้องการตรวจสอบและระยะของการประเมินดังกล่าวมาแล้ว

หลักเกณฑ์ในการประเมินหลักสูตร
              เนื่องจากการประเมินหลักสูตรเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมาก ผู้ทำหน้าที่ประเมินผล จำเป็นต้องยึดหลักการที่สำคัญในการประเมินผลเพื่อที่จะทำให้การประเมินผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลจากการประเมินหลักสูตรที่มีคุณค่าเพียงพอที่จะนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรได้จริง เป็นข้อมูลหรือหลักฐานที่เชื่อถือได้สูง มีความเที่ยงตรงเราจะพบว่าในการประเมินหลักสูตรผลจากการประเมินผลหลายต่อหลายเรื่องมิได้ถูกนำไปใช้ก็ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทั้งๆ ที่การประเมินผลหลักสูตรแต่ละครั้งเป็นงานใหญ่ต้องลงทุนลงแรงสูง เพราะฉะนั้นในการประเมินหลักสูตรเพื่อให้ได้ผลการประเมินที่มีคุณค่า เราจึงมีหลักเกณฑ์ที่จะช่วยในการประเมินดังนี้
              1. มีจุดประสงค์ในการประเมินที่แน่นอน การประเมินผลหลักสูตรจะต้องกำหนดลงไปให้แน่นอนชัดเจนว่าประเมินอะไร
              2. มีการวัดที่เชื่อถือได้ โดยมีเครื่องมือและเกณฑ์การวัดซึ่งเป็นที่ยอมรับ
              3. ข้อมูลเป็นจริงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประเมินผล ดังนั้น ข้อมูลจะต้องได้มาอย่างถูกต้องเชื่อถือได้และมากพอที่จะใช้เป็นตัวประเมินค่าหลักสูตรได้
              4. มีขอบเขตที่แน่นอนชัดเจนว่าเราต้องการประเมินในเรื่องใดแค่ไหน
              5. ประเด็นของเรื่องที่จะประเมินอยู่ในช่วงเวลาของความสนใจ
              6. การรวบรวมข้อมูลมาเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ และกำหนดเครื่องมือในการประเมินผลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
              7. การวิเคราะห์ผลการปะเมินต้องทำอย่างระมัดระวังรอบคอบ และให้มีความเที่ยงตรงใน     การพิจารณา
              8. การประเมินผลหลักสูตรควรใช้วิธีการหลายๆ วิธี
              9. มีเอกภาพในการตัดสินผลการประเมิน
              10. ผลต่างๆ ที่ได้จากการประเมินควรนำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรทั้งในด้านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในโอกาสต่อไป เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ดี และมีคุณค่าสูงสุดตามที่ต้องการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น